หน่วยการเรียนรู้ที่1

กฎหมายไทย

กฎหมาย ( law) หมายถึง กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้น หรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ
ที่มาของกฏหมาย
แหล่งที่มาของกฏหมายมีอยู่มากมายหลายทาง และมีวิวัฒนาการหรือเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ทังนี้สามารถแบ่งแหล่งที่มาของกฏหมายได้ดังนี้
• จารีตประเพณี เป็นแนวปฏิบัติที่ใช้ในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเรื่องของการยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน
• การออกกฏหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการปกครองระบอบราชาธิปไตย การออกกฏหมายจะเป็นพระบรมราชโองการของกษัตริย์ ต่อมาอำนาจในการออกกฏหมายเป็นของสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการออกกฏหมายโดยเฉพาะ ที่สำคัญคือ สถาบันรัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติ ปัจจุบันรัฐที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐสภาเป็นแหล่งออกกฏหมายโดยตรง
• คำสั่งและกฤษฏีกาที่ออกโดยฝ่ายบริหาร เป็นกฏหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ออกมาบังคับใช้
• คำพิพากษาของศาล คำพิพากษาของศาลคือแหล่งที่มาของกฏหมายนั้นๆ เช่น กรณีที่ผู้พิพากษาเคยตัดสินคดีในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน เมื่อมีคดีลักษณะเช่นเดียวกันเกิดขึ้นมาอีก ผู้พิพากษาจะยึดเอาคำตัดสินที่แล้วมาเป็นหลัก
• ความคิดเห็นของนักวิชาการ นักวิชาการกฏหมายมีส่วนช่วยให้เกิดกฏหมายใหม่ๆ ขึ้นบังคับใช้ในสังคม หรือนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฏหมายต่างๆ ทีไม่มีความยุติธรรมหรือไม่มีความเท่าเทียมกันในสังคม ให้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กฏหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กฏหมายเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงอายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจาก 20 ปี เป็น 18 ปี ฯลฯ
จุดประสงค์และความสำคัญของกฏหมาย
จุดประสงค์ของการบัญญัติกฏหมายขึ้นมาก็เพื่อ จัดระเบียบให้กับสังคม ทั้งยังช่วยรักษาความมั่นคงให้รัฐ ระงับข้อพิพาท ประสานผลประโยชน์ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม ช่วยพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า โดยใช้กฏหมายเป็นเครื่องมือในการรักษาระเบียบของสังคม เมื่อสังคมมีระเบียบจะทำให้ง่ายต่อการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
จากจุดประสงค์ของการบัญญัติกฏหมายขึ้นมาข้างต้น สามารถสรุปความสำคัญของกฏหมายได้ดังนี้
• เป็นเครื่องมือในการควบคุมและกำหนดแนวทางพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นระเบียบและเพื่อความสงบเรียบร้อย
• เป็นเครื่องมือในการกำหนดและปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแก่ประชาชนในรัฐ
• เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ภายในรัฐ
• เป็นเครื่องมือในการรักษาความปลอดภัยและปกป้องอันตรายและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับสังคมหรือรัฐ
• เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์และพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรือง
ประเภทของกฏหมาย
การแบ่งประเภทของกฏหมายโดยพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์หรือขอบเขตการใช้กฏหมายมาเป็นแนวทางในการแบ่งประเภท อาจแบ่งกฏหมายได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. กฏหมายระหว่างประเทศ
กฏหมายระหว่างประเทศ เป็นกฏหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐในฐานะที่เท่าเทียมกัน เป็นกฏหมายที่เกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างรัฐ ซึ่งถือเป็นกติกาในการจัดระเบียบสังคมโลก ตัวอย่างเช่น กฏหมายการประกาศอาณาเขตน่านฟ้า การส่งผู้ร้ายขามแดน และสนธิสัญญาต่างๆ เป็นต้น

2. กฏหมายภายในประเทศ เป็นกฏหมายที่ใช้บังคับภายในรัฐต่อบุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ภายในรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนของประเทศนั้นๆ หรือบุคคลต่างด้าว กฏหมายภายในประเทศยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ กฏหมายมหาชนและกฏหมายเอกชน

• กฏหมายมหาชน หมายถึง กฏหมายที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการเป็นคู่กรณีด้วยกับเอกชน มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดรูปแบบการปกครองรัฐ และควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนในฐานะที่รัฐจำต้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐ และผลประโยชน์ของสาธารณะ โดยทั่วไปกฏหมายมหาชนแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
 รัฐธรรมนูญ เป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ กำหนดรูปแบบและการปกครองของรัฐ การใช้อำนาจอธิปไตย และการกำหนดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ
 กฏหมายปกครอง เป็นกฏหมายที่ขยายความให้ละเอียดจากรัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับองค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการปฏิบัติการต่างๆ ตามกฏหมาย กำหนดสิทธิของประชาชนในการเกี่ยวพันกับรัฐ
 กฏหมายอาญา เป็นกฏหมายที่มีบทบัญญัติครอบคลุมเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของรัฐ ชุมชน และประชาชนโดยส่วนรวม วัตถุประสงค์ของกฏหมายเพื่อที่จะให้ความปลอดภัย สร้างความเป็นระเบียบของรัฐและรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน
 กฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฏหมายที่กำหนดรายละเอียดวิธีพิจารณาคดีอาญาทางศาล
 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กำหนดว่าในการพิจารณาคดีนั้น ศาลใดจะมีอำนาจในการพิจารณาคดีประเภทใด

• กฏหมายเอกชน
เป็นกฏหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับนิติบุคคล และบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ที่ให้บุคคลสามารถรักษาและป้องกันสิทธิมิให้ถูกละเมิดจากบุคคลอื่น เช่น กฏหมายเกี่ยวกับสัญญา การสมรส มรดก กฏหมายเอกชนแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
 กฏหมายแพ่ง เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของเอกชน เช่น ความมีสภาพเป็นบุคคล ครอบครัว มรดก นิติกรรม เป็นต้น ซึ่งถ้ามีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของกันและกันแล้ว ไม่กระทบคนส่วนใหญ่ ลักษณะการลงโทษจึงมีเพียงการชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น
 กฏหมายพาณิชย์ เป็นกฏหมายที่กำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลที่ประกอบการค้าและธุรกิจ เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วน การประกัน เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ ดังนั้นลักษณะของกฏหมายจึงต่างจากกฏหมายแพ่ง
 กฏหมายพิจารณาความแพ่ง เป็นกฏหมายว่าด้วยข้อบังคับที่ใช้ในการดำเนินคดีเมื่อเกิดคดีความทางแพ่ง
วิวัฒนาการของกฏหมายไทยนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี พ.ศ. 2475 นั้น จนถึงปัจจุบันประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับสำคัญ ๆ 18 ฉบับด้วยกัน ดังนี้

1. พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มีส่วนอย่างสำคัญในการร่าง ถือเป็นธรรมนูญฉบับแรกและเป็นฉบับชั่วคราว ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 5 เดือน 13 วัน
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 13 ปี 5 เดือน ระหว่าง 13 ปี 5 เดือนนี้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2482 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม(แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นนายกรัฐมนตรี ยังผลให้ชื่อของรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนเป็น “รัฐธรรม-นูญแห่งราชอาณาจักรไทย” ไปด้วย
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2483 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล ซึ่งเสนอโดยขุนบุรัสการกิตติคดี (เหมือน บุรัสการ) ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี โดยการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งมีนายพลตรี หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี อันมีผลให้บทเฉพาะกาลซึ่งควรจะต้องสิ้นสุดในวันที่ 10 ธันวาคม 2485 เป็นอย่างช้า ยืดเวลาออกไปอีก 10 ปี
แก่นแท้ของการเสนอยึดบทเฉพาะกาลก็คือ การคงอยู่ต่อไปอีกของสมาชิกประเภทที่ 2 อันมาจากการแต่งตั้ง
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2485 แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งมีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ยังผลให้สามารถขยายเวลาอยู่ในตำแหน่งผู้แทนราษฎรออกไปอีกคราวละ 2 ปี
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2489 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร อันมี พล.ท.ผิน ชุณหะวัณนายทหารกองหนุน เป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 5 เดือน 28 วัน
4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490
พ.อ. กาจ กาจสงคราม รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 มีส่วนอย่างสำคัญในการยกร่างและเก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่ม จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับ “ใต้ตุ่ม” หรือ “ตุ่มแดง” ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 4 เดือน 14 วัน ระหว่าง 1 ปี 4 เดือน 14 วันนี้ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง คือ
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2490 แก้ไขคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยกำหนดอายุผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต่ำกว่า 35 ปี และให้ พระบรมวงศานุวงศ์สามารถสมัครรับเลือกตั้งได้
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2491 แก้ไขกำหนดเวลาในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรและวิธีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และร่างให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2491 แก้ไขให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีเอกสิทธิ์และคุ้มกัน เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2492 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 โดยการ รัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่งมี พล.อ. ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 2 ปี 8 เดือน 6 วัน
6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 6 ปี 7 เดือน 12 วัน
7. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2502 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 9 ปี 4 เดือน 20 วัน
8. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2511 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่งจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้า เป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาในการร่างยาวนานถึง 9 ปี 4 เดือน 20 วัน แต่มีอายุในการประกาศและบังคับใช้เพียง 3 ปี 4 เดือน 27 วัน
9. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2515 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี 9 เดือน 22 วัน
10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2517 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่6 ตุลาคม 2519 โดยการรัฐประหารของ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 2 ปี
11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2519 และถูก “ฉีกทิ้ง” เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 โดยการรัฐประหารของ “คณะปฏิวัติ” ซึ่งมี พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 1 ปี
12. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 และได้รับการยกเลิกอย่าง “สันติ” เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 เนื่องจากการประกาศและบังคับใช้ธรรมนูญฉบับใหม่ คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521”อันเป็นธรรมนูญฉบับที่ 13
13. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2528
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 โดยผลจากข้อกำหนดในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นับว่าเป็นประชาธิปไตยพอสมควร หากไม่นับบทบัญญัติเฉพาะกาลที่มีผลใช้บังคับอยู่ในช่วง 4 ปีแรกของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งประสบความสำเร็จเมื่อปีพุทธศักราช 2528
14. ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 ภายหลังจากการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินของสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยได้ตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
15. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534
ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 เป็นรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นเพื่อใช้แทนธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 โดยมีการแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติม 4 ครั้ง 6 ฉบับ รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 5 ปี 10 เดือน 3 วัน
16. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้ง สำหรับฉบับที่สั้นที่สุดคือฉบับที่1 พระราชบัญญัติการปกครอง แผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 6 เดือน ฉบับที่ยาวที่สุดคือฉบับที่ 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 15 ปี 6 เดือน
17. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำมาใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 โดยมีจำนวน39 มาตรา โดยได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่24 สิงหาคม 2550 ทันทีที่รัฐธรรมมนูญฉบับที่ 18 มีผลบังคับใช้
18. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีจำนวนมาตรา 309 มาตราช่วงที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 17 นั้น ได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" (ส.ส.ร.) กำหนดให้ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 180 วัน นับแต่วันเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก จากนั้นได้ทำการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และจัดให้มีการออกเสียง "ประชามติ"

การลงประชามติมีขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยผลที่ออกมาคือ ประชาชนลงคะแนน รับร่างรัฐธรรมนูญ 57.81%ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 42.19% จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน และประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ